โรคเมลาโนส หรือ โรคราเปื้อนน้ำหมาก
โรคเมลาโนส หรือ โรคราเปื้อนน้ำหมาก
โรคเมลาโนส หรือ โรคราเปื้อนน้ำหมาก แบ่งอาการออกเป็น โรคเมลาโนส (melanose) โรคกรีสซีเมลาโนส (greasy melanose) โรคใบปื้นเหลืองหรือแต้มเหลือง (greasy spot) โรคกลุ่มนี้เกิดจากเชื้อรา พบระบาดในสวนส้มเขียวหวานและส้มสายน้ำผึ้งของภาคเหนือบ่อยมาก ทำให้ต้นส้มทรุดโทรม ผลผลิตลดลง ส่วน โรคสตาร์เมลาโนส (star melanose) เกิดจากการฉีดพ่นสารประกอบทองแดงในอัตราที่เข้มข้นเกินไปหรือฉีดพ่นบ่อยเกินไป
อาการของโรค
การทำลายที่ใบเป็นแผลจุดขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด สีน้ำตาลดำล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง เกิดทางด้านใต้ใบ เป็นวงๆ หรือกระจายทั่วไป เมื่อใบแก่จุดเหล่านี้จะนูนขึ้น ระคายมือคล้ายกระดาษทราย จุดแผลจะมีรูปร่างต่างๆ กันไปขนาดประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร สีน้ำตาลดำ ใบจะเหลือง หรืออาจบิดเบี้ยวและร่วมหล่นก่อนกำหนด สำหรับอาการที่พบบนกิ่ง แผลเริ่มแรกจะคล้ายกับแผลบนใบ เมื่อเป็นมากขึ้นแผลจะแตกสะเก็ดนูน (canker) และกิ่งแห้งตายในที่สุด ส่วนอาการบนผล แผลมีลักษณะเหมือนที่เกิดบนใบ มีสีน้ำตาลเป็นทางยาวจากขั้วผลลงมาประกอบกลางผล เรียกรอยเปื้อนน้ำหมาก หรือ แผลน้ำหมาก (tear-stain) เนื่องจากน้ำค้างหรือน้ำฝนไหลมาพาเอาเชื้อสาเหตุลงมาเป็นทาง ผลส้มมักมีขนาดเล็ก สำหรับโรคกรีสซีเมลาโนส จะปรากฏอาการเด่นชัดบนใบ โดยเชื้อราทำลายใบในระยะใบอ่อน เป็นจุดในเล็กๆ ทั้งด้านบนในและใต้ใบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดนูนสีเหลืองปนสีเขียวหรือสีน้ำตาล เป็นมัน นูน และลุกลามขยายใหญ่ มีประมาณ 5 มม. ไม่ระคายมือเหมือนโรค เมลาโนส เมื่อเป็นมากๆ ใบเหลืองและร่วมก่อนกำหนด ทำให้ต้นส้มทรุดโทรม และ ผลผลิตลดล
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อราโฟมอปซีส (Phomopsis citri) หรือ เชื้อราไดอะพอธี (Diaporthe citri) ส่วนโรคกรีสซีเมลาโนสเกิดเนื่องจากเชื้อราเซอร์คอสปอรา (Cercospora citri) หรือ เชื้อราไมโคสฟีเรลลา (Mycosphaerella citri) สำหรับโรคใบปื้นเหลืองเกิดจากเชื้อราเซอร์คอสอรา (cercospora sp.) หรือเชื้อราคล้ายยีสต์ (yeast-like organisms)
การแพร่ระบาด
สปอร์ของเชื้อราปลิวไปกับลม ติดไปกับน้ำ หรือน้ำฝนและติดไปกับกิ่งพันธุ์ โรคนี้ระบาดรุนแรงมากในฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงปลายฤดู และระบาดมากในสวนส้มที่ขาดการดูแล
การป้องกันกำจัด
- หากพบโรคในระยะเริ่มระบาด เก็บใบส้มที่เป็นโรคทำลาย ตัดแต่งกิ่งแห้งออกให้หมด เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคและป้องกันการแพร่ระบาด
- บำรุงต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
- ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราฉีดพ่น ในระยะใบอ่อนหรือเมื่อจำเป็น เช่น แมนโคเซบ อัตรา 30-40กรัม/น้ำ 20 ลิตร คาร์เบนดาซิม อัตรา 8-10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ฉีดพ่นให้ทั่วโลกโดยเฉพาะด้านใต้ใบ
ที่มา : https://ebook.lib.ku.ac.th/ebook27/ebook/2011-002-0253/#p=10