โรคแคงเกอร์
โรคแคงเกอร์
โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้มเป็นโรคซึ่งทำลายรุนแรงที่สุดอีกโรคหนึ่ง พบระบาดกว้างขวางในหลายประเทศ และบางประเทศห้ามนำพันธุ์หรือผลส้มเข้าประเทศเพื่อป้องกันโรคระบาด สำหรับประเทศไทยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าโรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้มนี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อใดและที่ไหน จากหนังสือและรายงานในสมัยแรกๆประมาณ พ.ศ. 2500-2504 เรียกโรคนี้ว่าโรคขี้เรื้อนหรือโรคขี้กลาก ปัจจุบันพบโรคแคงเกอร์ระบาดอย่างกว้างขวางในทุกแหล่งที่มีการปลูกส้ม ส้มเปลือกล่อนแม้จะเป็นโรคนี้ไม่รุนแรงเท่ามะนาว แต่ก็อ่อนแอต่อโรคนี้
อาการของโรค
บนใบในระยะแรกเกิดเป็นจุดกลมขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ใส และ ฉ่ำน้ำ มีสีซีดกว่าสีใบปกติ ต่อมาจุดแผลขยายใหญ่ขึ้น มีลักษณะฟูคล้ายฟองน้ำ สีเหลืองอ่อน แผลอาจเกิดเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านของใบ ต่อมาแผลจะนูนขึ้นทั้งสองด้านและเริ่ม เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยุบตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดขรุขระและแข็ง กลางแผลบุ๋มลงไป เล็กน้อย และมักมีวงแหวนสีเหลืองซีดเป็นมัน (halo) ล้อมรอบแผล ขนาดของแผลจะแตกต่างกันไปตามชนิดและพันธุ์ส้ม กิ่งอ่อนโดยเฉพาะกิ่งอ่อนของมะนาวเป็นแผลจุด สีเหลืองนูนฟูคล้ายที่เกิดกับใบ ต่อมาแผลจะแตกแห้งแข็งเป็นสีน้ำตาล และลามขยายรอบกิ่งหรือขยายตามความยาวกิ่ง เป็นปุ่มหรือปมขนาดใหญ่ แผลบนผลส้มมีลักษณะคล้ายกับอาการที่ใบ แผลที่เกิดเดี่ยวๆ มีลักษณะกลม รอบแผลฝังลึกลงไปในผิวของผล แผลจะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำแต่มีสีเหลือง แข็ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแผลแก่ ผลส้มที่เป็นโรคมักร่วง บางครั้งผลอ่อนมีอายุด 4-6 เดือนแตกตามขวางโดยเริ่มปริแตกจากแผลของโรคต้นส้มที่เป็นโรคมากมักแสดงอาการ ต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วงมาก กิ่งแห้งตาย ผลผลิตลดลงและต้นอาจตายในที่สุด
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแซนโธโมนัส (xanhomonas compestris pv. Citri) เข้าทำลาย ใบ กิ่ง ผลอ่อน โดยทางช่องเปิดธรรมชาติของพืช เช่น ปากใบ และทางบาดแผล เช่น แผลจาก ลม ฝน แผลจากการทำลายของแมลงศัตรูส้มโดยเฉพาะหนอนชอนใบ (citrus leaf miner : Phyllocnistsis citrella) เชื้อแบคทีเรียจำนวนมากอยู่ในแผลบนส่วนต่างๆ ของส้มที่เป็นโรค แต่ถ้าส่วนที่เป็นโรคร่วงหล่นลงสู่ดิน เชื้อสาเหตุก็สามารถอยู่ในดินนั้นได้นานเป็นปี
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
- ชนิดและพันธุ์ส้มมีความอ่อนแอต่อโรคนี้แตกต่างกัน เช่น มะนาว เป็นโรคนี้ได้รุนแรงกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ ส้มสายน้ำผึ้งหรือส้มโชกุนมีความอ่อนแอต่อโรคและสามารถเกิดความเสียหายจากโรคนี้ได้ง่าย
- สภาพอากาศร้อนและชื้น คือ อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสูง อากาศครึ้ม ฝนตกหลายวันติดต่อกัน เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคมาก
- หากมีหนอนชอนใบเข้าทำลายส้ม เชื้อสาเหตุของโรคแคงเกอร์จะเข้าทำลายส้มได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้น
- แปลงปลูกส้มอยู่ในที่โล่งไม่มีพืชกำลังลมล้อมรอบ มักพบการทำลายของโรคมากกว่าแปลงปลูกซึ่งมีพืชกำบังลม
การป้องกันกำจัด
- ใช้ส่วนขยายพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ส้มปลอดโรคหรือกิ่งพันธุ์ที่ไม่เป็นโรคมาปลูก
- ไม่นำพันธุ์ส้มที่เป็นโรคหรืออ่อนแอต่อโรค เช่นมะนาวหรือมะกรูด เข้าไปปลูกแซมหรือปลูกใกล้แปลงปลูกส้มสายน้ำผึ้งหรือส้มโชกุน เพราะอาจเป็นแหล่งของเชื้อและทำให้เกิดการระบาดของโรคได้
- ปลูกพืชกำบังลม เช่น ไม้ผลยืนต้น กล้วย ไผ่ สน กระถินยักษ์ และ ยูคาลิปตัส เพื่อป้องกันแรงลม ฝน ที่จะทำให้ ใบ ผล กิ่ง ก้าน เสียดสีกันและเกิดเป็นแผลซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคทำลายส้มได้ง่ายขึ้น
- ป้องกันแมลงกัดหรือทำลายใบโดยเฉพาะหนอนชอนใบ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำเติมได้รุนแรงยิ่งขึ้น
- บำรุงต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรงโดยการใช้ปุ๋ยและธาตุอาหารที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นส้มเกิดความต้านทานต่อการเข้าทำลายของโรค
- ฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดโรค
6.1ใช้สารเคมีพวกสารประกอบของทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คอปเปอร์ออกไซด์ อัตรา 30-50กรัม/น้ำ 20 ลิตร คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ อัตรา 10-12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นป้องกันโรคตั้งแต่ต้นฤดูฝนทุกๆ 7-10 วัน โดยเพาะในระยะส้มใบอ่อนหรือจนพ้นระยะการเจริญเติบโตที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อ คือ เมื่อใบส้มแก่หรือเมื่อพ้นฤดูฝน
6.2ในกรณีที่เริ่มเกิดโรคในระยะแรกๆ ควาบใช้สารประกอบของทองแดง ฉีดพ่นเป็นครั้งคราวเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโลก ควรแต่งรวบรวมส่วนที่เป็นโรคออกไปทำลาย
ที่มา : https://ebook.lib.ku.ac.th/ebook27/ebook/2011-002-0253/#p=10