โรคสแค็บ
โรคสแค็บ
ส้มเปลือกล่อนพันธุ์ต่างประเทศหลายพันธุ์อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรคสแค็บ พันธุ์สายน้ำผึ้งหรือส้มโชกุนในประเทศไทยมีความต้านทานต่อโรคนี้ได้พอสมควร จึงพบการแพร่ระบาดไม่มากนัก เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจน้อย ยกเว้นเมื่อติดตาหรือเสียบยอดบนพันธุ์ส้มต้นตอบางชนิด
อาการของโรค
ในระยะแรกเป็นแผลจุดใสขนาดเล็ก แผลจะนูนขึ้นทางด้านหนึ่งของใบและบุ๋มลงเล็กน้อยอีกด้านหนึ่ง ต่อจากนั้นแผลจะนูนแข็งขนาดของแผลประมาณ 0.5-2.0 มม. มีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเทา ใบมีสีเขียวซีดแคระแกร็นและบิดเบี้ยว และบางแผลอาจทำให้ใบบุ๋มเป็นรูปกรวย ขนาดของ แผลบนกิ่ง มักใหญ่กว่าแผล บนใบ บางครั้งอาจพบยางไหลจากแผล ทำให้ กิ่งแห้งตายได้ง่ายและเร็วกว่าปกติ ส่วนอาการบนผล มีลักษณะปุ่มปม เป็นแผลตกสะเก็ดคล้ายหูด ขรุขระ เกิดการกระจัดกระจายหรืออยู่ร่วมเป็นกลุ่ม ผลที่เป็นโรคมักแกร็น บิดเบี้ยว
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อรา สฟาวีโลมา (sphaceloma fawcetti) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า อัสสิโน (elsinoe faecetti)
การแพร่ระบาด
เกิดขึ้นโดยสปอร์ของเชื้อราสาเหตุปลิวแพร่กระจายไปกับลมหรือติดไปกับน้ำ นอกจากนี้โรคสามารถแพร่ระบาดโดยติดไปกับกิ่งพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ส้มที่มีความอ่อนแอต่อโรคและส้มต้นตอพันธุ์บางชนิด โรคนี้พบระบาดมากในฤดูฝนหรือในสภาพอุณหภูมิต่ำเล็กน้อยและความชื้นสูง พบทั้งในระยะใบอ่อนและผลอ่อน
การป้องกันกำจัด
- เลือกกิ่งตอนที่ปราศจากโรคมาปลูก
- ตัดแต่งทรงพุ่มต้น โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และส่วนที่เป็นโรคนำออกมาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นและการเข้าทำลายของเชื้อโรค
- ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อราประเภทสารประกอบของทองแดง เช่น คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ อัตรา 8-12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ อัตรา 30-50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ คิวปริคออกไซด์ อัตรา 30-45 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และสารป้องกันกำจัดเชื้อราอื่นๆ ก่อนส้มแตกใบอ่อน และในระยะใบอ่อนหรือเมื่อติดผลอ่อน
ที่มา : https://ebook.lib.ku.ac.th/ebook27/ebook/2011-002-0253/#p=10