โรคราดำ
โรคราดำ
โรคราดำเกิดจากเชื้อราดำเจริญขึ้นปกคลุมผิวใบ กิ่ง และผล พบในส้มเกือบทุกชนิดในแหล่งปลูกส้มทั่วๆ ไป เป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางอ้อม เช่น ทำให้ใบไม่สามารถสังเคราะห์แสง ทำให้สร้างอาหารได้น้อยลง ใบสกปรกไม่สวย นอกจากนี้บริเวณที่เกิดราดำปกคลุมยังเป็นที่หลบซ่อนของแมลงศัตรูส้มอีกด้วย
อาการของโรค
เชื้อราดำเจริญขึ้นปกคลุมได้ทั้งบนใบผลและกิ่งก้านส้ม โดยเชื้อราเกิดอยู่บนน้ำหวาน (honey-dew) ที่แมลงปากดูดขับถ่ายออกมา แมลงปากดูดเหล่านี้ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยไก่แจ้หรือเพลี้ยกระโดดส้มเป็นต้น อาการแรกเริ่มเป็นจุดขนาดเล็กๆ สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลดำ ต่อมาเชื้อราเจริญลุกลามเป็นจุดขนาดใหญ่ มีการสร้างเส้นใยและสปอร์ขึ้นแผ่ปกคลุม เป็นผงละเอียดเกาะติดแน่นบนเนื้อเยื่อพืช หากใช้เล็กมือหรือมีดขูดเบาๆ เชื้อราดำจะหลุดลอกออกเป็นแผ่น บริเวณที่ถูกปกคลุมจะมีสีเหลืองหรือเหลืองซีด เนื่องจากเชื้อราบดบังแสงแดด ทำให้พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ ถ้าเกิดมากๆ อาจทำให้ต้นส้มแคระแกร็น และผลส้มร่วมก่อนกำหนดได้
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อเมิโอลา (meliola sp.) หรือ เชื้อราแคปโนเดียม (capnodium citri)
การแพร่ระบาด
เชื้อราดำแพร่ระบาดจากต้นหนึ่งไปยังต้นอื่นๆ โดยเส้นใยและสปอร์ปลิวไปกับลม เมื่อตกลงบนน้ำหวาน ที่เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ถ่ายออกมา เชื้อราดำก็จะเจริญขึ้นปกคลุมเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณนั้น
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
แปลงปลูกส้มที่ทึบ ขาดการดูแลปฏบัติที่ถูกต้องโดยเฉพาะการตัดแต่ง ทำให้ต้นส้มมีสภาพไม่แข็งแรง อ่อนแอต่อเชื้อราดำ นอกจากนี้การไม่ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราและไม่ควบคุมแมลงศัตรู และการฉีดพ่นสารละลายน้ำตาลหรือส่าเหล้ามาครั้งเกินไป อาจทำให้ส่งเสริมการระบาดของโรคราดำ บางครั้งจะเกิดสาหร่ายและตะไคร่น้ำสีเขียวเป็นแผ่นจับบนใบและที่ผล ทำให้ไปปรุงอาหารไม่ได้
การป้องกันกำจัด
1.เมื่อพบราดำไม่มาก ควรรีบตัดแต่งต้นส้มไม่ให้รกทึบ หรือตัดแต่งส่วนของส้มที่มีราดำออกทำลาย
2. สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรครากับส้มทั่วๆ ไป สามารถใช้ควบคุมเชื้อนี้ได้ แต่ถ้าพบโรคราดำเกิดมาก ใช้สารเคมีในกลุ่มคาร์เบนดาซิม หรือผสมกับสารเคมีในกลุ่มแมนโคเซ็บ ในอัตราใช้ตามคำแนะนำ
3.ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เพื่อกำจัดแมลงปากดูดเมื่อพบการระบาดของแมลงและโรคราดำจะสามารถลดการเกิดและการทำลายของโรคราดำลงได้
ที่มา : https://ebook.lib.ku.ac.th/ebook27/ebook/2011-002-0253/#p=10